Surgical Endoscopy

ปัจจุบันอุบัติการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในประชากรไทย มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปี จากสถิติของศูนย์มะเร็งแห่งชาติ พบว่า ประชากรไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นอันดับ 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมด รองจากมะเร็งตับและมะเร็งปอด ทั้งนี้ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอยู่ในอัตรา 10 คน ต่อประชากร 100,000 คน และมีอัตราตายสูงถึง 50 % การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักนั้น ผู้ป่วยเกือบทุกราย ต้องได้รับการผ่าตัดวิธีใดวิธีหนึ่ง เพื่อกำจัดมะเร็งออกจากร่างกายให้หมดไปหรือเพื่อรักษาอาการอันเป็นผลข้างเคียงของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักนี้ การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งทางด้านเทคนิคการผ่าตัด และยาเคมีบำบัดสมัยใหม่ แต่ทั้งนี้ อัตราการตายจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเทียบกับหลายสิบปีก่อน ดังนั้นการป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักหรือการตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นน่าจะทำให้อัตราการตายจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักลดลงได้ ด้วยเทคโนโลยีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักในปัจจุบัน ทำให้การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักสามารถตรวจพบความผิดปกติภายในพื้นผิวลำไส้ ตั้งแต่ระยะแรกและสามารถทำการตัดความผิดปกตินั้น ๆ ออก ทำให้สามารถตัดต้นตอการเกิดเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักต่อไปได้ (Magnify Digital Chromoendoscopy)  นอกจากนี้ขนาดของกล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักในปัจจุบันมีขนาดเล็กลงแต่มีคุณภาพของภาพที่ดีขึ้นในระดับความละเอียดสูง (High definition image) ทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติที่กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักรุ่นก่อนไม่สามารถตรวจพบได้ และหากพบเนื้องอกลำไส้ใหญ่บางชนิดสามารถตัดออกได้ทางกล้องส่องตรวจ (Endoscopic Mucosal Resection and Endoscopic Submucosal Dissection) โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่ (Exploratory laparotomy) […]

Chemotherapy for Cancer

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก นอกจากการผ่าตัดที่เป็นหลักในการรักษาแล้ว การให้ยาเคมีบำบัดเป็นสิ่งจำเป็นที่เลี่ยงไม่ได้ ในผู้ป่วยที่มีการลุกลามของเนื้อร้าย เข้าไปในต่อมน้ำเหลืองหรือมีการกระจายไปยังอวัยวะอื่น หน่วยศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จุฬาฯ ให้บริการตรวจรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักแบบครบวงจร (One stop service) ตั้งแต่ตรวจคัดกรอง ตรวจวินิจฉัย ให้การผ่าตัด รวมไปถึงการให้ยาเคมีบำบัด และตรวจติดตามผลการรักษา การกลับมาเป็นใหม่ของโรค ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการให้ยาเคมีบำบัด และมีความเข้าใจที่ผิด ๆ เกี่ยวกับการได้รับยาเคมีบำบัด ซึ่งในปัจจุบันวิวัฒนาการของยาเคมีบำบัดได้พัฒนาไปจนทำให้มีผลข้างเคียงน้อยลงจากอดีตมาก ไม่มีผมร่วง และยาบางชนิดสามารถนำกลับไปเป็นยารับประทานที่บ้านได้ โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล

Radical Surgery

ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก รวมถึงมะเร็งในอุ้งเชิงกรานบางชนิด ไม่ได้มาพบแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ทำให้เมื่อตรวจพบก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดใหญ่มากและลุกลามเข้าไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงจนแยกไม่ออก การรักษาไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็อาจจะไม่มีผลแตกต่างกันมากในแง่ของระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ แต่การผ่าตัดสามารถทำให้อาการและความทรมานของผู้ป่วยลดน้อยลง เช่น ภาวะติดเชื้อ การปวดเรื้อรัง ซึ่งแม้ว่าผู้ป่วยจะไม่ได้มีชีวิตยืนยาวขึ้น แต่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในช่วงสุดท้ายของชีวิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หน่วยศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จุฬาฯ ให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่มีขนาดใหญ่ โดยคิดค้นพัฒนาวิธีการผ่าตัดเพื่อความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย

Laparoscopic Surgery

หลักการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ในปัจจุบันผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยศาสตร์การรักษาหลาย ๆ วิธีเข้าด้วยกัน (multidisciplinary approach) ตั้งแต่การส่องกล้องตรวจทางลำไส้ใหญ่ การผ่าตัด รวมถึงการให้ยาเคมีบำบัดและการฉายแสง แต่การักษาหลักจะเป็นการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อมะเร็งออกจากผู้ป่วยด้วยวิธีต่าง ๆ การผ่าตัด จุดประสงค์ของการผ่าตัดด้วยวิธีการต่าง ๆ คือ การนำเนื้อมะเร็งออกจากร่างกาย พร้อมทั้งต่อมน้ำเหลืองและเส้นเลือดที่มาเลี้ยงลำไส้ใหญ่และทวารหนักในบริเวณนั้น การผ่าตัดสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี ได้แก่ 1. การผ่าตัดด้วยวิธีการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Conventional surgery) คือ การผ่าตัดด้วยวิธีผ่าเปิดแผลหน้าท้อง เข้าไปตัดเนื้อมะเร็งออกจากร่างกาย 2. การผ่าตัดด้วยกล้องส่อง (Laparoscopic surgery) คือ การผ่าตัดด้วยการใช้กล้องและเครื่องมือพิเศษ เข้าไปตัดเนื้อมะเร็งออกจากร่างกายแทนการใช้มือของศัลยแพทย์ ซึ่งผลที่ได้จากการผ่าตัดด้วยกล้องส่องทำให้ผู้ป่วยมีแผลหน้าท้องที่เล็กกว่า ฟื้นตัวหลังการผ่าตัดได้เร็วกว่า แต่ทั้งนี้การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง จำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษซึ่งมีราคาแพงและอาจจะเบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ รวมทั้งต้องอาศัยความชำนาญพิเศษของศัลยแพทย์ ในการใช้เครื่องมือดังกล่าง ซึ่งการจะผ่าตัดด้วยกล้องส่องนั้น ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกรายที่จะสามารถทำการผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวได้ ศัลยแพทย์จะทำการเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมเพื่อเข้ารับการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง แต่อย่างไรก็ดี เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ในบางครั้งเมื่อทำการผ่าตัดด้วยกล้องส่องแล้วไม่ปลอดภัย เช่น มีพังผืดยึดตัวลำไส้อยู่มาก การมีเส้นเลือดที่ผิดปกติ ภาวะดังกล่าวอาจขัดขวางการทำการผ่าตัดด้วยกล้องส่อง ทำให้ต้องเปลี่ยนแผนการผ่าตัดเป็นการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยข้อดีของการผ่าตัดด้วยกล้องส่อง ทำให้ศัลยแพทย์มักเลือกที่จะเริ่มต้นด้วยการผ่าตัดด้วยกล้องส่องก่อนเป็นอันดับแรก […]

Pelvic Floor Disease

โรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับอุ้งเชิงกราน กำลังได้รับความสนใจจากแพทย์ทั่วโลก เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีอาการ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อาการของโรคในอุ้งเชิงกรานได้แก่ การขับถ่ายลำบาก ท้องผูก ไม่สามรถถ่ายออกมาได้อย่างปกติ ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากมักเป็นผู้หญิง หน่วยศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ได้เร่ิมให้บริการตรวจรักษาแก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาดังกล่าว ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ได้แก่ การตรวจความสามารถในการหดตัวของหูรูดทวารหนัก (Anal manometry) การตรวจความผิดปกติของช่องทวารด้วยคลื่นเสียง (3D Anal ultrasound)  รวมถึงการทำงานร่วมกันกับรังสีแพทย์ในการตรวจกลไกการขับถ่ายด้วยเครื่อง MRI ( MR Defecography ) เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของความผิดปกติของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายจากความทุกข์ทรมานจากความผิดปกติของการขับถ่ายได้

Anorectal Disease

หน่วยศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จุฬาฯ ให้บริการตรวจรักษาโรคทางทวารหนัก ได้แก่ ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoid) ฝีคัณฑสูตร (Fistula-in-ano) แผลขอบทวาร (Anal fissure) หูดหงอนไก่ (Anal condyloma) ฯลฯ ด้วยความรู้และเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น การรักษาริดสีดวงทวาร โดยการรัดหัวริดสีดวงทวาร (Rubber band ligation) ซึ่งไม่ต้องนอนโรงพยาบาล การตัดหัวริดสีดวงทวารด้วยเครื่องมือต่าง ๆ (Hemorrhoidectomy, Staple hemorrhoidopexy) รวมไปถึงการใช้เครื่องมือที่มีวิวัฒนาการล่าสุด คือ การเย็บผูกเส้นเลือดที่มาเลี้ยงริดสีดวงทวาร โดยไม่ทำให้มีอาการเจ็บหลังทำการผ่าตัดแบบนี้ (Hemorrhoid artery ligation) เป็นแห่งแรกของประเทศไทย การรักษาฝีคัณฑสูตร ( Fistula in ano ) หน่วยฯ มีประสบการณ์การรักษาฝีคัณฑสูตรยาวนานมากกว่า 30 ปี โดยศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่ที่มีความชำนาญและสนใจการรักษานี้โดยเฉพาะ จากความสนใจดังกล่าว ทำให้ศ.นพ.อรุณ โรจนสกุล คิดค้นวิธีการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตร โดยไม่ทำให้หูรูดของรูทวารเสียไป (LIFT technique) ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวกำลังได้รับความนิยมและแพร่หลายในวงการแพทย์ของโลก […]