Surgical Endoscopy

ปัจจุบันอุบัติการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในประชากรไทย มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปี จากสถิติของศูนย์มะเร็งแห่งชาติ พบว่า ประชากรไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นอันดับ 3 ของโรคมะเร็งทั้งหมด รองจากมะเร็งตับและมะเร็งปอด ทั้งนี้ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอยู่ในอัตรา 10 คน ต่อประชากร 100,000 คน และมีอัตราตายสูงถึง 50 % การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักนั้น ผู้ป่วยเกือบทุกราย ต้องได้รับการผ่าตัดวิธีใดวิธีหนึ่ง เพื่อกำจัดมะเร็งออกจากร่างกายให้หมดไปหรือเพื่อรักษาอาการอันเป็นผลข้างเคียงของมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักนี้

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งทางด้านเทคนิคการผ่าตัด และยาเคมีบำบัดสมัยใหม่ แต่ทั้งนี้ อัตราการตายจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเทียบกับหลายสิบปีก่อน ดังนั้นการป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักหรือการตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นน่าจะทำให้อัตราการตายจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักลดลงได้ ด้วยเทคโนโลยีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักในปัจจุบัน ทำให้การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักสามารถตรวจพบความผิดปกติภายในพื้นผิวลำไส้ ตั้งแต่ระยะแรกและสามารถทำการตัดความผิดปกตินั้น ๆ ออก ทำให้สามารถตัดต้นตอการเกิดเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักต่อไปได้ (Magnify Digital Chromoendoscopy)  นอกจากนี้ขนาดของกล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักในปัจจุบันมีขนาดเล็กลงแต่มีคุณภาพของภาพที่ดีขึ้นในระดับความละเอียดสูง (High definition image) ทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติที่กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักรุ่นก่อนไม่สามารถตรวจพบได้ และหากพบเนื้องอกลำไส้ใหญ่บางชนิดสามารถตัดออกได้ทางกล้องส่องตรวจ (Endoscopic Mucosal Resection and Endoscopic Submucosal Dissection) โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่ (Exploratory laparotomy) ซึ่งทำให้ระยะเวลาในการรักษารวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาลดน้อยลงเป็นอย่างมาก

ด้วยความรู้และการพัฒนาด้านการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในปัจจุบัน ทำให้ทราบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักส่วนใหญ่เกิดจากติ่งเนื้อภายในลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Polyp) ซึ่งหากมีการตรวจพบติ่งเนื้อนี้และทำการตัดออกจะเป็นการป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้ซึ่งได้ผลดีที่สุด ดังนั้นในต่างประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา และ อังกฤษ ได้มีการแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอาการโดยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไปทุกราย นอกจากนี้หากมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ควรได้รับการตรวจตั้งแต่อายุน้อยกว่า 50 ปีเพื่อเป็นการตรวจหาติ่งเนื้อที่เป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักตั้งแต่เริ่มต้น สำหรับในประเทศไทยเอง ยังไม่มีโปรแกรมการตรวจคัดกรองที่เป็นทางการ เนื่องจากการตรวจด้วยกล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีค่าใช้จ่ายที่สูง จึงไม่ได้แนะนำให้เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในผู้ป่วยทั่วไปแต่แนะนำให้ตรวจเลือดที่ปนมากับอุจจาระก่อน แต่ทั้งนี้เมื่อตรวจพบเลือดปนมากับอุจจาระ ควรต้องได้รับการตรวจด้วยการส่องกล้องต่อไป

หน่วยศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ฝ่ายวิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้บริการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา จนได้เปิดให้บริการห้องส่องกล้อง Surgical Endosocpy ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.​2552 เป็นต้นมา และได้ย้ายมาให้บริการที่อาคารผู้ป่วยในพิเศษ (อาคาร 14 ชั้น) ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.​2556 จนถึงปัจจุบัน ในแต่ละปีมีผู้ป่วยเข้ารับบริการมากขึ้นตามลำดับ โดยในปีพ.ศ. 2559 มีผู้เข้ารับบริการทั้งสิ้น 4,200 คน ห้องส่องกล้อง Surgical Endooscopy ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีของกล้องส่องตรวจที่ทันสมัย เพื่อให้บริการตรวจหาติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่และทวารหนักด้วยกล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่รุ่นพิเศษ ชนิดเดียวกับที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่น (Olympus Lucera 290) ซึ่งสามารถตรวจพบและแยกแยะชนิดของติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ (Magnify digital chromoendoscopy, NBI magnify image) ได้ด้วยความถูกต้องแม่นยำ พร้อมทั้งบุคลากรที่ได้รับการฝึกฝนและดูงานจากประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ห้องส่องกล้อง Surgical Endoscopy ยังให้บริการผ่าตัดรักษาติ่งเนื้อในลำใหญ่และทวารหนัก ผ่านกล้อง Colonoscopy ด้วยเทคนิค Endoscopic Submucosal Dissection หรือ ESD procedure โดย นายแพทย์สุภกิจ ขมวิลัย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2554 เป็นต้นมา จนในปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยเทคนิค ESD มากกว่า 110 ราย ด้วยเทคนิคด้งกล่าว ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดไม่มีแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง ทำให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยความรวดเร็ว จนบางครั้งผู้ป่วยเอง ก็รู้สึกเหมือนไม่ได้เข้ารับการผ่าตัดแต่อย่างใด แต่เทคนิคดังกล่าวต้องใช้ประสบการณ์และเครื่องมือพิเศษหลายอย่าง ทำให้การผ่าตัดด้วยเทคนิคดังกล่าว ทำได้เฉพาะในโรงพยาบาลบางแห่งเท่านั้น

Scope