Laparoscopic Surgery
หลักการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ในปัจจุบันผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยศาสตร์การรักษาหลาย ๆ วิธีเข้าด้วยกัน (multidisciplinary approach) ตั้งแต่การส่องกล้องตรวจทางลำไส้ใหญ่ การผ่าตัด รวมถึงการให้ยาเคมีบำบัดและการฉายแสง แต่การักษาหลักจะเป็นการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อมะเร็งออกจากผู้ป่วยด้วยวิธีต่าง ๆ การผ่าตัด จุดประสงค์ของการผ่าตัดด้วยวิธีการต่าง ๆ คือ การนำเนื้อมะเร็งออกจากร่างกาย พร้อมทั้งต่อมน้ำเหลืองและเส้นเลือดที่มาเลี้ยงลำไส้ใหญ่และทวารหนักในบริเวณนั้น การผ่าตัดสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี ได้แก่
1. การผ่าตัดด้วยวิธีการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง (Conventional surgery) คือ การผ่าตัดด้วยวิธีผ่าเปิดแผลหน้าท้อง เข้าไปตัดเนื้อมะเร็งออกจากร่างกาย
2. การผ่าตัดด้วยกล้องส่อง (Laparoscopic surgery) คือ การผ่าตัดด้วยการใช้กล้องและเครื่องมือพิเศษ เข้าไปตัดเนื้อมะเร็งออกจากร่างกายแทนการใช้มือของศัลยแพทย์ ซึ่งผลที่ได้จากการผ่าตัดด้วยกล้องส่องทำให้ผู้ป่วยมีแผลหน้าท้องที่เล็กกว่า ฟื้นตัวหลังการผ่าตัดได้เร็วกว่า แต่ทั้งนี้การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง จำเป็นต้องใช้เครื่องมือพิเศษซึ่งมีราคาแพงและอาจจะเบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ รวมทั้งต้องอาศัยความชำนาญพิเศษของศัลยแพทย์ ในการใช้เครื่องมือดังกล่าง ซึ่งการจะผ่าตัดด้วยกล้องส่องนั้น ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกรายที่จะสามารถทำการผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวได้ ศัลยแพทย์จะทำการเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมเพื่อเข้ารับการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง แต่อย่างไรก็ดี เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ในบางครั้งเมื่อทำการผ่าตัดด้วยกล้องส่องแล้วไม่ปลอดภัย เช่น มีพังผืดยึดตัวลำไส้อยู่มาก การมีเส้นเลือดที่ผิดปกติ ภาวะดังกล่าวอาจขัดขวางการทำการผ่าตัดด้วยกล้องส่อง ทำให้ต้องเปลี่ยนแผนการผ่าตัดเป็นการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยข้อดีของการผ่าตัดด้วยกล้องส่อง ทำให้ศัลยแพทย์มักเลือกที่จะเริ่มต้นด้วยการผ่าตัดด้วยกล้องส่องก่อนเป็นอันดับแรก
หน่วยศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จุฬาฯ เป็นผู้ริเริ่มให้การผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ด้วยกล้องส่อง โดยอาจารย์จิรวัฒน์ พัฒนะอรุณ และอาจารย์ชูชีพ สหกิจรุ่งเรือง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา ด้วยประสบการณ์มากกว่า 13 ปี ทำให้ศัลยแพทย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จุฬาฯ มีความชำนาญในการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ทุกประเภท แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่หรืออยู่ใกล้ทวารหนัก ก็สามารถผ่าด้วยกล้องส่องเอามะเร็งออกมาได้ และได้ทำการสอนศัลยแพทย์ทั้่งในประเทศและต่างประเทศให้สามารถผ่าตัดด้วยเทคนิคผ่านกล้องส่องได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย