ประวัติของหน่วยศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ภาควิชาศัลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีชื่อเสียงทางด้านโรคลำไส้ใหญ่และทวารหนักสืบทอดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน อาจารย์ท่านแรกที่เริ่มต้นวางรากฐาน ของหน่วยงานนี้คือ ศาสตราจารย์เฉลี่ย วัชรพุกก์ ท่านได้ศึกษาทางด้านศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จาก Cleveland clinic จากประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านได้เป็นหัวหน้าศัลยกรรมสาย G 1 และหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ ตามลำดับ ท่านเป็นบุคคลแรกที่ได้รับรองจากกระทรวงสาธารณสุข ในสมัยของท่าน ให้เป็นศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะทางลำไส้ใหญ่และทวารหนัก คนแรกของประเทศไทย ท่านเป็นผู้ริเริ่มและบุกเบิกงานทางด้านศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จนมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ งานที่สำคัญของท่านอีกประการคือ การจัดตั้ง Rectal clinic ที่แผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งแยกจากการตรวจโรคอื่น ๆ ของศัลยกรรมทั่วไป และยังคงดำเนินการในรูปแบบเดียวกันตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ขั้นตอนแรกของการจัดต้ังหน่วยศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เกิดขึ้นในสมัยที่รองศาสตราจารย์ บรรเทอง รัชตะปิติ เป็นหัวหน้าภาควิชา ในการสัมนาภาควิชาที่หาดตะวันรอน สัตหีบ ได้มีการจัดทำแผนจัดตั้ง หน่วยศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยมีการจัดตั้งหอผู้ป่วยเฉพาะโรคลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ขึ้นที่ตึกจงกลนีชั้นล่าง โดยศัลยแพทย์ทั่วไปทุกท่าน มีสิทธิ์ที่จะบรรจุผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้ บุคคลที่พัฒนางานด้านศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ท่านต่อมาคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์วิศิษฐ์ ฐิตะวัฒน์ ท่านได้เป็นหัวหน้าหน่วยศัลยกรรมทั่วไปสาย G1 สืบทอดจากศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลี่ย วัชรพุกก์ และต่อมา ท่านได้เป็นหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ และเป็นประธานชมรมศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก อีกหลายสมัย อาจารย์ท่านต่อมาคือ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ยอด สุคนธมาน ท่านได้สำเร็จ american board of colorectal surgery จากสหรัฐอเมริกา ต่อมาท่านได้รับเลือก และแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าศัลยกรรมทั่วไปสาย G2 และหัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ และประธานชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ในสมัยที่ท่านเป็นหัวหน้าภาควิชา ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มให้ยื่นเรื่องขอเปิดการฝึกอบรม แพทย์ประจำบ้านต่อยอด สาขาลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จากแพทยสภา ในปีพ.ศ. 2537 ในการขอเปิดการฝึกอบรมนี้ เป็นเรื่องที่กินเวลานานถึง 7 ปี เพราะแพทยสภาในสมัยนั้น ไม่มีนโยบายให้เปิดการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาเพิ่มเติมอีก ในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้มีการทำหนังสือสอบถาม ไปยังแพทยสภาหลายครั้ง ตั้งแต่ในสมัย รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ยอด สุคนธมาน และต่อมาภายหลัง เมื่อศาสตราจารย์นายแพทย์ธนิต วัชรพุกก์ ซึ่งเป็นประธานชมรมในสมัยต่อมา ได้กรุณาทำหนังสือถึงแพทยสภา โดยได้ทำหนังสือถึงราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ช่วยทำหนังสือสนับสนุนอีกทางหนึ่งด้วย ในปี พ.ศ.2544 ศาสตราจารย์นายแพทย์อรุณ เผ่าสวัสดิ์ ได้เป็นนายกแพทยสภา ท่านอาจารย์ได้นำเรื่องขอเปิดฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เข้าพิจารณาในวาระการประชุมของคณะกรรมการแพทยสภา และทางภาควิชาศัลยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ส่งรองศาสตราจารย์นายแพทย์อรุณ โรจนสกุล เข้าชี้แจงข้อมูลต่อคณะกรรมการแพทยสภา และได้รับอนุมัติ ให้เปิดการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีโควต้า  1 ตำแหน่ง รับผู้ที่จบการฝึกอบรมศัลยกรรมทั่วไปแล้ว มาเรียนต่อยอดอีก 1 ปี

อาจารย์ผู้เป็นต้นกำเนิดของการแยกหน่วยศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก คือ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ประพันธ์ กิติสิน ในช่วงที่อาจารย์ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาใหม่ เมื่อพ.ศ. 2541 อาจารย์ได้ขอให้แยกหน่วยศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ออกจากหน่วยศัลยกรรมทั่วไป เมื่อเริ่มต้นมีอาจารย์ประจำหน่วยเพียง 1 ท่านคือ รองศาสตราจารย์นายแพทย์อรุณ โรจนสกุล โดยที่รองศาสตราจารย์นายแพทย์ประพันธ์ กิติสิน รักษาการเป็นหัวหน้าหน่วยคนแรกเป็นเวลา 1 ปี

หลังจากนั้น ศาสตราจารย์นายแพทย์อรุณ โรจนสกุล ขึ้นเป็นหัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 จนถึงปี พ.ศ. 2546 หลังจากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์จิรวัฒน์ พัฒนะอรุณ ได้รับตำแหน่งหัวหน้าหน่วยฯ คนที่สอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 ถึงปีพ.ศ. 2552 และศาสตราจารย์นายแพทย์ชูชีพ สหกิจรุ่งเรืองรับตำแหน่งหัวหน้าหน่วยจนกระทั่งปัจจุบัน

ในปัจจุบันหน่วยศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ได้เปิดการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง สาขาศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ที่ได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ปีละ 2 ตำแหน่ง โดยมีระยะเวลาการฝึกอบรม 2 ปี จนถึงปัจจุบัน มีศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จบการฝึกอบรมไปแล้วทั้งสิ้น 17 รุ่น รวม 37 คน

และในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.​2552 ทางหน่วย ได้เปิดให้บริการห้องส่องกล้อง Surgical Endoscopy เพื่อให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วย ผ่านกล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ( Colonoscopy ) โดยมีนายแพทย์สุภกิจ ขมวิลัย เป็น Endoscopist ประจำห้องส่องกล้อง และได้ย้ายมาเปิดให้บริการ ณ อาคารผู้ป่วยในพิเศษ ( อาคาร  14 ชั้น ) ชั้น 3 ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.​ 2556 เป็นต้นมา ในปัจจุบัน มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ ปีละมากกว่า 4,000 ราย


024357